13 มิถุนายน 2552

:: การวัดแสง ( เฉพาะจุด ) ::

:: การวัดแสง ( เฉพาะจุด ) ::

ตอนที่ผมเริ่มหัดถ่ายภาพใหม่ๆ พอได้ยินคำว่า ชดเชยแสง "โอเวอร์ - อันเดอร์" ผมก็งงครับ ไม่รู้อะไรกันนะ ? และก็เคยได้ยินว่า "อย่าไปใช้เลย... การวัดแสงเฉพาะจุด เพราะถ้าวัดพลาดมันจะทำให้รูปเสียเลย" หรือ "วัดแสงเหรอ ไม่ต้องคิดอะไรมา วัดที่หลังมือเรานั่นแหละ เทากลาง" หรือไม่ก็ "เห็นใบไม้สีเขียวนั้นไม๊ ? นั่นแหละ เทากลางหละ วัดตรงนั้นแล้วใช้ได้เลย"

หลังจากนั้น ผมก็ค่อยๆ เริ่มทำความเข้าใจกับระบบวัดแสง ทีละนิด ทีละหน่อย ตามหนังสือ หรือสื่อต่างๆ ที่พอจะหาได้ มาถึงตอนนี้ ผมก็พอจะเข้าใจบ้างว่ามันคืออะไร ทำอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เลยอยากจะลองบอกเพื่อนๆ ที่เริ่มอยากรู้ เคยสงสัย หรือกำลังอยากเข้าใจในเรื่องนี้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อย ในที่นี้ผมขอพูดถึงระบบการวัดแสงเฉพาะจุดอย่างเดียวเลยนะครับ เพราะว่าระบบอื่นๆ ก็จะขึ้นอยู่กับ ความสามารถของกล้องแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเฉลี่ยๆ กี่ส่วนต่อกี่ส่วน ก็แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตจะมีเทคโนโลยีในการผลิตกันอย่างไร

001.jpggray18.jpg

:: สีเทากลาง ::

เรื่อง มันยาวหน่อยนะครับ ขอให้ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ลองปฏิบัติตามที่แนะนำ รับรองครับว่า ต้องเข้าใจแน่ๆ แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็ต้องโทษตัวผมหละครับที่เขียนไม่รู้เรื่องเอง อิอิ ขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

เรื่องแรกผมของพูดถึง "สีเทา 18%" ก่อนเลยนะครับ "สีเทา 18%" ก็คือค่าของสีเทา ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ขาวกับดำ จะเรียกกันในภาษาของนักถ่ายภาพว่า "สีเทากลาง" ก็คือ ค่าสีมาตรฐานที่กล้องทุกๆ ตัว ใช้เป็นค่าในการวัดแสงกระทบจากวัตถุต่างๆ ที่เราเล็งจุดวัดแสงไปยังสิ่งที่ต้องการ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นเรามาลองของจริงกันเลยนะครับ ถ้าอยากเข้าใจจริง ๆ ต้องลองทำตามนะครับ หยิบกล้องขึ้นมาปรับโหมดการถ่ายภาพไปที่ " P " และปรับระบบวัดแสงเป็นระบบ "เฉพาะจุด" ถ้าไม่รู้ว่าการวัดแสงแบบเฉพาะจุดอยู่ตรงไหน ในกล้องมีระบบนี้หรือไม่ ได้เปิดคู่มือดูนะครับ มีแน่นอน

:: วัตถุสีสว่าง ::

ต่อ จากนั้นก็ลองหาวัตถุสีขาว เช่นกระดาษขาว หรือผนังสีขาว แล้วยกกล้องถ่ายภาพเล็งไปยังวัตถุ โดยให้วัตถุนั้น เต็มเฟรมที่ต้องการถ่ายภาพ แล้ว กดชัตเตอร์ลงครึ่งนึงก่อน เพื่อทำการวัดแสง โดยยังไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้นจากนั้นก็กดชัตเตอร์ลงไปเลยเราก็จะได้ภาพสีเทาๆ มาหนึ่งภาพดังรูปตัวอย่าง

006.jpg

:: วัตถุสีเข้ม ::

ต่อไป เราหาวัตถุสีดำๆ หรือกระเป๋ากล้องก็ได้ครับ ( ส่วนใหญ่จะสีดำ ) ทำเหมือนครั้งแรก คือโหมด "P" และ " เฉพาะจุด " กด ครึ่งนึงเพื่อวัดแสง และกดถ่ายภาพ เราก็จะได้วัตถุสีเทาๆ มาอีกภาพหนึ่งดังรูปตัวอย่าง สองภาพนี้ ด้านซ้าย เป็นวัตถุที่ต้องการถ่าย ตรงกลางคือสีเทากลางที่กล้องคำนวน ภาพขวาคือภาพที่กล้องคำนวนแสง และถ่ายทอดออกมานะครับ

003.jpg

ที่ เราได้รูปสีเทาๆ มาดังตัวอย่างทั้งสองภาพข้างต้นนี้ ก็เพราะว่า ระบบวัดแสงของกล้อง ไม่ว่าจะให้มองอะไร ก็จะมองเห็นเป็นสีเทา และถ่ายภาพสีเทาที่กล้องมองเห็นมาให้เราดูกันเป็นขวัญตาหละครับ

ก่อนจะถึงขั้นต่อไป มีคำถามครับจากตัวอย่างข้างต้น

1.ถ้าต้องการถ่ายภาพวัตถุสีขาว ให้ขาวเหมือนจริง คิดว่าจะต้องทำอย่างไร ?

2.ถ้าต้องการถ่ายภาพให้วัตถุสีดำ ให้ดำเหมือนจริง คิดว่าจะต้องทำอย่างไร ?

คิดแล้วค้นหาคำตอบไว้ในใจก่อนนะครับ แล้วค่อยดูกันต่อไป...

อั่นแน่! ยังไม่ทันคิดเลย จะมาดูเฉลยซะแล้ว... ไม่บอกหรอก แต่อนุญาตให้ติดตามต่อไปได้

ก่อนที่จะบอกกัน ผมจะเล่าอะไรนิดนึง นานมาแล้วมีกระทาชายนายหนึ่ง ชื่อว่า Ansel Adams ได้ค้นพบว่า จากส่วนที่ดำที่สุดถึงส่วนที่ขาวที่สุด สามารถแบ่งออกได้เป็นสิบเอ็ดส่วน เค้าเรียกสิบเอ็ดส่วนนี้ว่า "โซน" โดยเริ่มนับจาก 0 ไปถึง 10 ไล่จากดำสุด ไปหาขาวสุด แล้วเค้ายังค้นพบอีกว่า จุด ที่ดำที่สุดที่ถ่ายภาพออกมาแล้วเราเห็นรายละเอียดในส่วนดำนั้นได้ คือ "โซน 2-3" และ จุดที่ขาวที่สุดที่ถ่ายภาพออกมาแล้วเรายังพอเห็นรายละเอียดได้พอลางๆ นั้น อยู่ที่ "โซน 7-8" แล้วมันสำคัญอย่างไร ? สำคัญตรงที่ว่า จุดที่อยู่ตรงกลางคือ "โซน 5" ก็คือค่า "สีเทากลาง" มันก็คือค่า "สีเทา18%" ที่กล้องของเราๆ ท่านๆ ใช้กำหนดในการวัดแสงดังตัวอย่างข้างต้นนั้นแหละ และโซนต่างๆ ที่เค้าแบ่งไว้ก็ไม่นึกอยากจะแบ่งก็แบ่งเล่นๆ แต่เป็นการแบ่งมาจากการทดลอง และทดสอบต่างๆ นานา มาจนแต่ละโซนนั้น ก็คือ "1 สต๊อป" ของการปรับแสงของกล้องนั่นเอง "1โซน ก็เท่ากับ 1สต๊อป"

zone01.jpg

การ ปรับ "สต๊อป" ของกล้อง ให้ไปทางดำ หรือ ทางขาว ก็ทำได้โดยการปรับ "สปีดชัตเตอร์" หรือ "รูรับแสง" ส่วนที่ว่า สปีดชัตเตอร์ กับ รูรับแสง นั้นเป็นอย่างไร ก็คงพอทราบกันอยู่แล้ว หรือไม่ทราบก็หาอ่านจากคู่มือกล้องของท่านเองก็จะมีบอกไว้ คราวนี้ก็มาถึงว่า แล้วค่าสปีดชัตเตอร์กับรูปรับแสงเท่าไหร่หละ ? ที่จะเรียกได้ว่า "1สต๊อป"

zone02.jpg

สปีดชัตเตอร์ : 30" - 15" - 8" - 4" - 2" - 1" - 2 - 4 - 8 - 15 - 30 - 60 - 125 - 250 - 500 - 1000 - 2000 - 4000 (" = วินาที) จากช้าไปหาเร็ว ช้าสุดก็จะรับแสงได้มากกว่าเร็วสุด ลองปรับโหมดถ่ายภาพเป็น " M " แล้วปรับค่าสปีดชัตเตอร์ของกล้องดูนะครับ ถ้ามีค่าแทรกระหว่างตัวเลขตัวอย่าง ก็เป็นค่าเศษส่วนของ "1 สต๊อป" เช่น จาก 60 - "90" - 125 ก็จะเป็น "1/2 สต๊อป(โซน)" หรือ 60 - "80" - "100" - 125 ก็จะเป็น "1/3 สต๊อป(โซน)"

zone03.jpg

รูรับแสง : 1.4 - 2 - 2.8 - 4 - 5.6 - 8 - 11 - 16 - 22 - 32 - 45 - 90 จากกว้างสุดไปหาแคบสุด กว้างสุดก็รับแสงได้มากกว่า แคบสุด ก็ลองปรับดูเช่นกันครับ ถ้ามีค่าระหว่างนั้น ก็เป็นค่า "1/2 สต๊อป(โซน)" และ "1/3 สต๊อป(โซน)" เช่นกัน

zone04.jpg

ทั้ง สปีดชัตเตอร์ และรูรับแสง การปรับสต๊อปขึ้น หรือลง มีผลทำให้แสงเดินทางผ่านเลนส์ มากน้อยตามไปด้วย สปีดชัตเตอร์ที่เร็วกว่า แสงก็จะเข้าน้อยกว่า สปีดชัตเตอร์ที่ช้ากว่า (เปิดนานกว่า) รูรับแสงที่กว้างกว่า ก็จะรับแสงได้มากกว่า รูรับแสงที่น้อยกว่า ที่เล่ามาตั้งยาวนี้ เพียงเพื่อว่าเวลาพูดถึง ลบ หรือ บวก สต๊อป แล้วจะได้เข้าใจและทำได้ด้วยความเข้าใจไม่ใช่ความจำ เช่น

ถ้า พูดว่า "ลบ 1 สต๊อป" ก็หมายถึงว่า ทำภาพให้มืดลง 1 สต๊อป หรือ 1 โซน โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง จะเป็นปรับรูรับแสง หรือปรับสปีดชัตเตอร์ก็ได้ และถ้าพูดว่า "บวก 1 สต๊อป" ก็เช่นเดียวกันแต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม

ใน ปัจจุบัน กล้องระบบอีเลคทรอนิค ไดัคิดค้นและพัฒนาในการปรับค่าแสงได้ง่ายขึ้น โดยการเลื่อนบาร์ ไปตามระดับสต๊อป ที่เราต้องการ โดยไม่ต้องไปปรับ รูรับแสงและสปีดชัตเตอร์แต่อย่างใด

กล้องจะทำงานให้โดย อัตโนมัติ ทำให้เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการถ่ายภาพมากขึ้น บาร์ปรับระดับสต๊อปนี้(ชื่อนี้ผมตั้งเองนะ ไม่ได้อ้างอิงจากตำราใดๆ) จะเป็นประโยชน์มากเมื่อต้องการถ่ายภาพแบบฉับไว ปัจจุบันทันด่วน ใช้ได้ดีกับการถ่ายภาพในโหมด " AV "(เรากำหนดรูรับแสง กล้องจะช่วยหาความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสม) , " TV "(เรากำหนดความไวชัตเตอร์ กล้องจะช่วยหารูรับแสงที่เหมาะสม) และ " P " (กล้องช่วยหาความไวชัตเตอร์ และรูรับแสงที่เหมาะสม) เป็นระบบของกล้องแคนนอน กล้องยี่ห้ออื่นก็ดูจากคู่มือก็แล้วกันนะครับ และเอาไว้เช็คค่าแสงเมื่อใช้ในโหมด M (เรากำหนด รูรับแสง และความไว้ชัตเตอร์ ที่ต้องการ) ส่วนระบบใด น่าจะเอาไปใช้อย่างไร จะขอแยกเรื่องออกไปพูดกันอีกต่างหาก ถ้ายังมีคนสนใจ จะมาเล่าให้ฟังกันอีกครับ

zone05.jpg

zone06.jpg

แถม นิดนึงครับ ค่าของแสงที่สามารถจะพิมพ์ภาพออกมาได้และสามารถที่จะเห็นรายละเอียดต่างๆได้ นั้น จะอยู่ที่ประมาณ "โซน 3 - โซน 7" ค่ามืดที่สุด กับสว่างที่สุด ควรจะไม่เกิน “ โซน 2 กับ โซน 8 ”

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ภาพจะไม่แสดงรายละเอียดใดๆ ในส่วนมืดและส่วนสว่าง แต่ไม่ใช่ว่าภาพนั้นๆ จะต้องคุมให้อยู่ในโซนดังกล่าวเท่านั้น อาจจะเลยเถิดไปถึงไหนก็ได้ตามแต่เจ้าของภาพต้องการ และเห็นชอบว่าดี

ก่อนจะดำเนินเรื่องต่อไป ก็มีคำถามมาถามกันก่อนอีกแล้วครับท่าน

  1. "สต๊อป" กับ "โซน" เหมือนกันหรือไม่ ? มีผลอย่างไรกับภาพเมื่อปรับลด และเพิ่ม
  2. เมื่อ เราวัดแสงวัตถุที่ต้องการได้ค่าสปีดชัตเตอร์ 60 และต้องการปรับ "ลบสต๊อป(มืดลง)" ไป "2 สต๊อป" ด้วยการปรับสปีดชัตเตอร์ จะได้ค่าสปีดชัตเตอร์เท่าใด ?
  3. เมื่อ เราวัดแสงวัตถุที่ต้องการได้ค่ารูรับแสง 5.6 และต้องการปรับ "บวกสต๊อป(สว่างขึ้น)" ไป "2 สต๊อป" ด้วยการปรับรูรับแสง จะได้ค่ารูรับแสงเท่าใด ?
  4. เมื่อเรา วัดแสงวัตถุที่ต้องการ ได้ค่าสปีดฯ 90 รูรับแสง 8 แล้วต้องการให้มืดลง "2 สต๊อป" สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ? คิดไว้อย่างน้อย 2 วิธี

ปล. อยากรู้เฉลยเมล์ julajuk@yahoo.com มาหาผม อิอิ หรือ ลองติดตามตอนต่อไปนะคร๊าบบบบบบบบบบ ...

ก่อน จะดำเนินการกันต่อไป ขอให้ทำความเข้าใจ และตอบคำถามข้างต้นให้ได้ก่อนนะครับ ถ้ายังอ่านที่ผ่านๆมาไม่เข้าใจ แนะนำให้ลองอ่านทบทวน และหยิบกล้องมาลองหมุนไปหมุนมา ปรับไปปรับมาดูนะครับ จนกว่าจะ มาถึงบ้างอ้อ...ฉันจึงได้มาเข้าใจ...ว่าความเป็นจริงข้างใน........

อะ ไปกันใหญ่ อิอิ ต่อเลยดีกว่า..

จาก ที่ผ่านๆ มา เราได้การปรับเปลี่ยน รูรับแสง และสปีดชัตเตอร์ ไปทีละสต๊อป ตามค่ามาตรฐานแล้วนะครับ คราวนี้เราจะมาดูว่า การวัดแสงเฉพาะจุดนั้นจะช่วยให้เรามั่นใจในการวัดแสงได้อย่างไรกันหนอ ?

ระบบ การวัดแสงเฉพาะจุดของกล้องแต่ละตัว ก็มีกำหนดจุดที่จะทำการวัดแสง กว้างหรือแคบไม่เท่ากัน เช่นบางตัวบอก 1% บางตัวบอก 6.5% บางตัวบอก 9.5% อย่างนี้ก็ต้องลองศึกษาคู่มือของกล้องให้เข้าใจชัดเจนก่อนนะครับ ถ้าเป็นกล้องที่ไม่มีระบบวัดแสงเฉพาะจุด หรือว่าต้องการความแม่นยำสูง ก็ลองใช้เครื่องมือวัดแสง ที่สามารถวัดแสงได้เฉพาะจุด ถ้าจะให้ดีจะต้องเป็น 1% นะครับ เพื่อความแม่นยำสูงสุดเท่าที่จะทำได้

007.jpg

มา เริ่มถ่ายภาพกันนะครับ โดยเริ่มจากการถ่ายภาพง่ายๆ ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายนะครับ เลือกหาอะไรก็ได้มุมไหนก็ได้ครับ ที่ดูไม่สบสนวุ่นวายจนมองไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับภาพง่ายๆ นั้น ก็ควรจะมีแสง มีเงา มีมุมมืดมุมสว่างก็จะดีครับ หรือไม่ก็ให้ง่ายขึ้นก็นำกระเป๋ากล้อง กับกระดาษขาวที่เราใช้ถ่ายทดสอบครั้งแรกนั่นแหละครับ เอามาวางไว้ด้วยกัน แล้วหาอะไรที่เป็นสีกลางๆ มาวางไว้ประกอบเข้าไป ปรับโหมดการถ่ายภาพเป็น " M " เพื่อให้เข้าใจจึงจำเป็นที่จะต้องใช้โหมดการถ่าย " M " เพราะเป็นโหมดที่จะต้องใช้การปรับรูรับแสงและสปีดชัตเตอร์เท่านั้น จึงจะปรับให้ โอเวอร์ หรืออันเดอร์ได้

การวัดส่วนมืดเป็นหลัก (ใช้ได้ดีกับฟีล์มเนกาตีฟ)

ก็ คือการที่เราต้องการให้ภาพแสดงรายละเอียดในส่วนมืดที่ต้องการ โดยที่ไม่สนใจรายละเอียดในส่วนสว่าง ก็ไม่มีอะไรยากมากครับ แค่วางจุดวัดแสงไปยังตำแหน่งส่วนมืดที่เราต้องการ โดยถ้าดูจากตารางโซน แล้ว ส่วนมืดที่ยังจะสามารถแสดงรายละเอียดได้ดี นั้น ควรจะอยู่ที่ประมาณโซน 2 - 3 โดยยึดถือโซน 5 เป็นเทากลางที่กล้องวัดแสงได้ ก็จะหมายความว่า เราต้อง ปรับให้อันเดอร์ 2 สต๊อป ในกรณีที่ต้องการให้เห็นรายละเอียดมากหน่อย จะใช้โซน 3 เป็นจุดหมายของการวัดแสง จึงจะได้ค่าของการวัดแสงในส่วนความมืดที่ยังคงมีรายละเอียด ถ้าเราปรับลดเพียง 1 สต๊อป ก็จะไม่มืดจริง ทำให้ส่วนอื่นๆ สว่างเกินไปด้วย และถ้าเราปรับลดไป 3 สต๊อป ก็จะทำให้มืดจนไม่เห็นรายละเอียด และส่วนต่างๆ ของภาพก็ "มืดกว่าความเป็นจริง(อันเดอร์)" โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. เล็งจุดวัดแสงไปยัง " ส่วนมืดของภาพที่เราต้องการให้มีรายละเอียด "

2. กดชัตเตอร์ไว้ครึ่งหนึ่งเพื่ออ่านค่าวัดแสงที่ได้

3. ปรับลดลง 2 สต๊อป โดยการปรับลดสปีดชัตเตอร์ และ / หรือ รูรับแสง เราก็จะมั่นใจได้ว่า ภาพที่เราจะถ่ายนี้ ส่วนมืดจะมีรายละเอียดแน่นอน

008.jpg009.jpg

ภาพนี้เราเห็นว่าถังน้ำนั้นมืดที่สุดในภาพ สมมติว่า กล้องวัดค่าแสงมาได้ F 8 / 250 (รูรับแสง/สปีดชัตเตอร์) ก็ให้ปรับลดลง 2 สต๊อป เพราะเราไม่ต้องการถังสีเทา เราต้องการถังสีดำ

4. เล็งจุดโฟกัสไปยังส่วนที่ต้องการ จัดองค์ประกอบภาพ

5. กดชัตเตอร์เพื่อทำการถ่ายภาพตามต้องการ

เรา ก็จะได้ภาพที่มีรายละเอียดในส่วนมืดครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนในส่วนที่สว่างในกรณีที่สว่างเกินไป ก็ต้องไปคำนวนการล้างฟีล์ม หรือทำการเผาในห้องอัด หรือถ้าเป็นดิจิตอลก็ต้องอาศัยโปรแกรมปรับแต่งภาพในการปรับแต่ง ในขึ้นต่อไป...

การวัดส่วนสว่างเป็นหลัก (ใช้ได้ดีกับฟีล์มสไลด์ และกล้องดิจิตอล)

ก็ คือการที่เราต้องการให้ภาพแสดงรายละเอียดในส่วนสว่างที่ต้องการ โดยไม่สนใจรายละเอียดในส่วนมืด ทำได้โดยการวางจุดวัดแสงไปยังตำแหน่งส่วนสว่างของภาพที่เราต้องการ โดยเทียบจากตารางโซนแล้ว ส่วนสว่างที่จะยังคงมีรายละเอียดให้เราได้เห็นนั้น ควรจะอยู่ที่ประมาณโซน 7 - 8 โดยยึดถือโซน 5 เป็นเทากลางที่กล้องวัดแสงได้ ก็จะหมายความว่า เราต้อง ปรับให้โอเวอร์ 2 สต๊อป ในกรณีที่ต้องการให้เห็นรายละเอียดมากหน่อย จึงจะใช้โซน 7 เป็นจุดหมายของการวัดแสง จึงจะได้ค่าของการวัดแสงในส่วนสว่างที่ยังคงมีรายละเอียด ถ้าเราปรับเพิ่มเพียง 1 สต๊อป ก็จะไม่สว่าง หรือขาวจริง ทำให้ส่วนอื่นๆ มืดเกินไปด้วย และถ้าเราปรับเพิ่มไป 3 สต๊อป ก็จะทำให้สว่างขาวจนไม่เห็นรายละเอียด และส่วนต่างๆ ของภาพก็ "สว่างกว่าความเป็นจริง (โอเวอร์)" โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. เล็งจุดวัดแสงไปยัง "ส่วนสว่างของภาพที่เราต้องการให้มีรายละเอียด"

2. กดชัตเตอร์ไว้ครึ่งหนึ่งเพื่ออ่านค่าวัดแสงที่ได้

3. ปรับให้สว่างขึ้น 2 สต๊อป โดยการปรับสปีดชัตเตอร์ และ/หรือ รูรับแสง เราก็จะมั่นใจได้ว่า ภาพที่เราจะถ่ายนี้ ส่วนสว่างจะมีรายละเอียดแน่นอน

010.jpg011.jpg

4. เล็งจุดโฟกัสไปยังส่วนที่ต้องการ จัดองค์ประกอบภาพ

5. กดชัตเตอร์เพื่อทำการถ่ายภาพตามต้องการ

เรา ก็จะได้ภาพที่มีรายละเอียดในส่วนสว่างครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนในส่วนที่มืดในกรณีที่มืดเกินไป ก็ต้องไปคำนวนการล้างฟีล์ม หรือทำการบัง ในห้องอัด หรือถ้าเป็นดิจิตอลก็ต้องอาศัยโปรแกรมปรับแต่งภาพในการปรับแต่ง ในขึ้นต่อไป

การวัดแสงของภาพที่ไม่มีทั้งมุมมืดและมุมสว่างหรือภาพที่เป็นกลางๆ

ควรทำอย่างไร ? ให้ลองคิดกันดูนะครับ

ภาพ นี้ก็ตรงกันข้ามกับตัวอย่างก่อนหน้านี้ เราต้องการกำแพงสีขาวที่มีรายละเอียดของความขรุขระของกำแพง วัดแสงที่กำแพง แล้วเพิ่ม 2สต๊อป

จากที่ผ่านมา ก็ได้รู้หลักการจะกำหนดให้กล้องของเราถ่ายภาพมาได้ดังใจต้องการบ้างแล้วนะ ครับ ก็ลองให้ไปฝึกหัด คิดโจทย์ ตีโจทย์กันเองว่า เราจะถ่ายอะไร อย่างไร วัดแสงตรงไหน จึงจะได้ภาพที่มีรายละเอียดตามที่ต้องการ เช่น ถ้าในภาพนั้นไม่มีส่วนมืดๆ เลยมีแต่สว่างๆ เราจะใช้ระบบใด ? ถ้าภาพนั้นๆ เป็นห้องมืดๆ ทึมๆ เราจะวัดแสงโดยอ้างอิงจากส่วนใด ? ถ้าเราต้องการวัดแสงแบบฉับไว เพราะบางครั้ง คงไม่มีเวลามากมายนักในการวัดแสงที่ยุ่งยากแบบนี้ จะทำอย่างไร ? ก็ลองคิดดูก่อนนะครับ

นี่เป็นเพียงขั้นต้นของการวัดแสงที่ จะพอเข้าใจได้ง่าย(หรือเปล่า ? ) เท่านั้นนะครับ เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยยังมีอีกมากมายนักยังต้องศึกษากันต่อไป ใหม่ๆ การทำความเข้าใจ และการปรับกล้องในการวัดแสงอาจจะดูลำบาก ชักช้าอยู่บ้าง แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ จนชำนาญแล้ว เราแทบจะไม่ต้องคิดเลย มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติเลยครับ

อยากให้สักเกตุนิดนึงว่า ทำไม ตัวอย่างแรกผมถึงวัดค่าแสงที่ถังน้ำ และตัวอย่างที่ 2 ผมจึงวัดที่กำแพง เหตุเพราะว่า สิ่งที่ผมวัดแสง คือสิ่งที่ผมต้องการให้มีรายละเอียด ผมพิจารณาจากรวมๆ แล้วผมไม่อยากให้ถังน้ำกลายเป็นถังอะไรดำๆ ที่มองไม่ออกว่ามันเป็นอะไร ส่วนตัวอย่างที่ 2 ผมต้องการแสดงรายละเอียดของผิวกำแพง จึงกำหนดตรงนี้เป็นหลัก เพราะถ้ากำหนดส่วนอื่น อาจจะทำให้กำแพงกลายเป็นกำแพงขาวๆ ไม่แสดงรายละเอียดใดๆได้

ลองดูครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น