18 มกราคม 2553

กล้องโทรทรรศน์คืออะไร?

กล้องโทรทรรศน์คืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่ทำหน้าที่ดึงภาพจากระยะไกลให้ปรากฏเหมือนกับอยู่ใกล้ ๆ ใช้สำหรับส่องดูวัตถุไกล ๆ เช่น ดวงดาว ตามนิยามเดิมในภาษาอังกฤษ จะระบุด้วยว่ากล้องจะต้องเป็นวัตถุทรงกระบอก แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์พัฒนาไปมาก จนสามารถสร้างกล้องจนมีรูปร่างหลากหลายมากขึ้นจนบางชนิดอาจไม่เป็นทรงกระบอก ก็ได้


เหตุใดเมื่อมองเนบิวลาด้วยตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ไม่ปรากฏเป็นสีอย่างที่เห็นในภาพถ่าย?

เนื่องจากเนบิวลาส่วนใหญ่มีความสว่างน้อยมาก ซึ่งในสภาพที่แสงน้อยมาก ๆ ประสาทรับสีของตาเราจะไม่สามารถรับรู้สีสันต่าง ๆ ได้ เนื่องจากประสาทรับสีของคนจะมีความไวน้อยกว่าประสาทรับความเข้มแสงมาก แต่ภาพถ่ายของเนบิวลาที่ปรากฏเป็นสีสันสวยงาม เพราะถ่ายด้วยฟิล์มซึ่งสะสมแสงและสีได้

ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้างจึงจะถ่ายรูปดาวหางได้?

อุปกรณ์ถ่ายรูปดาวหางที่สว่างเห็นด้วยตาเปล่าอย่างง่ายที่สุด ต้องมี 3 อย่าง คือ

  1. กล้องถ่ายรูปแบบ SLR พร้อมเลนส์ปกติทางยาวโฟกัส 50 มิลลิเมตร
  2. กล้องควรมีปุ่มบังคับม่านชัดเตอร์ B และควรใช้คู่กับสายลั่นชัตเตอร์
  3. ขาตั้งกล้อง

อุปกรณ์ 3 อย่างข้างต้นล้วนแต่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ผู้ที่รักการถ่ายรูปมีกันทุกคน เพียงแค่นี้นักถ่ายรูปดาวหางมือใหม่ อาจบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตา และอาจเป็นเพียงคนเดียวที่บันทึกได้ เช่น การสลัดส่วนหางของดาวหาง การระเบิดแตกตัวของนิวเคลียส กระทั่งการเกิดหางชนิดพิเศษชี้เข้าหาดวงอาทติย์ (antitail) แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ค้นพบ แต่ภาพถ่ายที่มีคุณค่าเหล่านี้จะถูกกล่าวอ้างกันไปชั่วลูกชั่วหลานเช่นกัน


ข้อแนะนำอย่างง่ายที่สุดในการถ่ายรูปดาวหางขนาดใหญ่

อุปกรณ์ถ่ายรูปดาวหางที่สว่างเห็นด้วยตาเปล่าอย่างง่ายที่สุด ต้องมี 3 อย่าง คือ

  1. กล้องถ่ายรูปแบบ SLR พร้อมเลนส์ปกติทางยาวโฟกัส 50 มิลลิเมตร
  2. กล้องควรมีปุ่มบังคับม่านชัตเตอร์ B และควรใช้คู่กับสายลั่นชัตเตอร์
  3. ขาตั้งกล้อง

เมื่อมีอุปกรณ์ข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ตั้งกล้องบนขาตั้ง เลือกใช้ฟิล์มอะไรก็ได้ที่มีค่าความไวสูง (อย่างค่ำต้อง ISO 400) จากนั้นเล็งกล้องไปยังดาวหางบนฟ้า เลือกมุมตามใจชอบ ปรับโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ เปิดหน้ากล้องให้กว้างที่สุดให้แสงเข้ากล้องเต็มที่ ใช้ระบบ B เปิดหน้ากล้องที่ความไวต่างกันในแต่ละรูป โดยเริ่มจากไม่กี่วินาที จนกระทั่งถึง 2-3 นาที โดยแต่ละภาพควรจดบันทึกเวลาที่เปิดหน้ากล้องไว้ด้วย จากนั้นนำฟิล์มไปล้างเพื่อดูผลงาน เปรียบเทียบดูว่าภาพเปิดหน้ากล้องที่เวลาเท่าใดจะได้ภาพดาวหางที่สวยงาม ก็จดจำค่าดังเกล่าว และนำมาพัฒนาการถ่ายรูปดาวหางในคืนต่อมา

ต้องอย่าลืมว่า ดาวหางปรากฏให้เห็นเป็นเวลาหลายวัน ในแต่ละครั้งของการถ่ายภาพควรถ่ายให้หมดม้วน หรือหากไม่หมดให้ใช้วิธีตัดฟิล์มไปล้าง ดีกว่าถ่ายจนหมดม้วนกินเวลาหลายวัน หากผิดพลาดจะไม่มีโอกาสแก้ตัว

กล้องแบบไหนถ่ายดาวหางได้ดีที่สุด

หลักสำคัญของการเลือกใช้กล้องเพื่อถ่ายดาวหางก็คือ กล้องดังกล่าวจะต้องมีระบบชัตเตอร์ B โดยมากจะมีในกล้องระบบ SLR ส่วนกล้องแบบคอมแพ็กต์หรือกล้องขนาดเล็กมักจะไม่มี และขนาดของเลนส์ก็เล็กเกินไป ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพที่มีแสงน้อย กล้อง SLR มักมีเลนส์ทางยาวโฟกันมาตรฐานคือ 50 มม.

ข้อควรระวังสำหรับกล้องรุ่นใหม่ ๆ กับระบบเปิด B ก็คือ กล้องรุ่นใหม่มักมีระบบการเปิดชัตเตอร์ควบคุมด้วยไฟฟ้า ไม่ใช่ด้วยระบบกลไก เหมือนกล้องรุ่นเก่าหรือรุ่นคลาสสิกบางรุ่นที่ยังนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเปิดม่านชัตเตอร์ในกล้องรุ่นใหม่นาน ๆ ก็จะกินไฟมาก ถ่านอาจจะหมดทำให้ม่านชัตเตอร์ปิดก่อนเวลากำหนด จะต้องเผื่อเรื่องแบตเตอรี่ให้ดี และโดยเฉพาะกล้องระบบอิเล็กทรอนิกส์มักไม่ทนต่ออากาศเย็นมาก ๆ ระบบต่าง ๆ จะไม่ทำงาน และอากาศเย็นทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นกล้องรุ่นเก่าที่เป็นระบบกลไกดูจะเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ถ่ายรูป ดาวหาง


จะเลือกใช้ฟิล์มสไลด์หรือฟิล์มเนกาทีฟดี และจะเลือกยี่ห้อใด รุ่นใด?

หัวใจสำคัญของการเลือกใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพดาวหาง คือ เลือกฟิล์มที่มีความไวแสงสูงมาก ๆ ยิ่งสูงเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เวลาในการบันทึกภาพน้อยลง คุณภาพของภาพก็จะดี และก็ไม่ต้องกาศัยระบบขาตั้งกล้องที่สามารถหมุนตามดาวด้วย

โดยทั่วไปควรเลือกซื้อฟิล์มที่มีความไวแสงอย่างต่ำ ISO 400 เช่น Kodak Ektachrome Elite 400 และ Ektachrome P 1600 หรือถ้าใช้ของ Fuji ก็ต้องรุ่น Fujichrome 400 หรือ Provia 400 และ Provia 1600

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบฟิล์มขาว-ดำก็ขอแนะนำรุ่นที่ถ่ายดาวหางได้ดีที่สุด คือ Kodak's T-Max 400 ซึ่งสามารถเพิ่มค่าความไวไปเป็น 800 หรือสูงกว่า หรือบางคนอาจจะเล่น T-Max 3200 เลยก็ได้ เพียงแต่เนื้อจะหยาบมาก

ฟิล์มเนกาทีฟสี สำหรับถ่ายรูปดาวหางที่ดี ก็คือ Kodak's Royal Gold 1000, Fuji Super G 800 และ Konica's SRG 3200

สำหรับฟิล์มสไลด์ ปัจจุบันนักถ่ายรูปดาวไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก เนื่องจากฟิล์มเนกาทีฟมีพัฒนาการในเรื่องของความไวแสงดีกว่า นักถ่ายภาพดาวหลายคนเลือกใช้ฟิล์มเนกาทีฟแล้วนำมาก็อปปี้เป็นภาพสไลด์ เพื่อเก็บไว้ทำการฉายให้กับเพื่อนสมาชิก หรือใช้ในการบรรยายก็สะดวกดี


คุณภาพของเลนส์มีผลต่อภาพดาวหางหรือไม่?

คุณภาพของเลนส์หรือค่าความสว่างของเลนส์ย่อมมีผลต่อคุณภาพของภาพ ดาวหางอย่างแน่นอน จะสังเกตเห็นการกำหนดค่าความสว่างของเลนส์เป็นตัวเลข F stop ต่าง ๆ เช่น เลนส์ f/1.4 และ f/2 ตัวเลขหลัง f stop เป็นตัวกำหนดค่าความสว่างหรือรูรับแสงของเลนส์ที่สามารถเปิดหน้ากล้องได้มาก ที่สุดของเลนส์นั้น ๆ ตัวเลขยิ่งน้อย รูรับแสงจะยิ่งกว้าง ดังนั้น f stop ยึ่งมีค่ามากค่าความสว่างหรือคุณสมบัติที่เลนส์ยอมให้แสงผ่านจะลดลง ถ้าเป็นท่อกลวงไม่มีเนื้อแก้วแล้วมาวางเลย จะมีค่า f/1 ดังนั้นเลนส์ที่มีค่า f/1.4 ย่อมสว่างกว่าและดีกว่าเลนส์ f/2 นั่นเอง

ในการถ่ายภาพดวงดาวขณะเปิดหน้ากล้องกว้างสุด มักจะพบว่า ภาพดวงดาวบริเวณกรอบภาพมักจะเบลอร์ ไม่ชัดเจน ผลเกิดเนื่องจากบริเวณขอบเลนส์มีความโค้งมาก แสงที่ผ่านบริวณดังกล่าวจึงมักจะเกิดการหักเหมาก ทำให้ภาพมัว วิธีแก้ไขคือ ให้บิดรูหน้ากล้องลงมา (รูรับแสงเล็กลง) 1 ถึง 2 สต็อปเพื่อบังบริเวณขอบไว้ ซึ่งก็พอจะช่วยแก้ไขได้ แต่แนะนำให้ทำกับเลนส์ที่มีรูปรับแสงมากกว่า f/2 เท่านั้น หากมี f มาก ๆ ไม่แนะนำ เพราะจะทำให้แสงโดยรวมเข้ากล้องน้อยลงไปอีก

ส่วนกรณีภาพที่ถ่ายจากเลนส์โทเลโฟโต้ หรือจากเลนส์คุณภาพต่ำ ที่มักจะเกิดภาพฟุ้งเหมือนหมอกสีฟ้าหุ้มอยู่รอบ ๆ จุดดาวสว่างสามารถแก้ไขได้โดยการใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองอ่อน (wratten 2B หรือ 2E) ช่วยลดแสงเรืองดังกล่าวลงได้ แต่ถ้าถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำ สามารถใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองเข้มกว่านี้ได้ เพราะจะไม่มีผลต่อสีของภาพ

ทำไมเวลาเปิดหน้ากล้องนาน ๆ (นานกว่า 1 นาที) จึงเห็นดาวเป็นขีดไม่เป็นจุด?

กล้องที่มีเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ 50 มม. การเปิดหน้ากล้องประมาณ 1 หรือ 2 นาที โดยตั้งกล้องอยู่กับที่บนขาตั้ง ดาวยังเป็นขีดไม่มากนัก หากดาวหางสว่างพอก็จะสามารถบันทึกภาพได้แล้ว แต่ถ้าใช้เลนส์เทเลโฟโต้ขนาด 135 มม. เปิดหน้ากล้องเพียงไม่กี่วินาที ขีดดาวจะถูกขยายให้เห็นได้ชัดทีเดียว วิธีแก้ไขเพื่อไม่ให้ดาวเป็นขีดก็คือ ใช้ขาตั้งกล้องที่มีระบบตามการเคลื่อนที่ของดาว

อย่างที่เราทราบกันดีว่าโลกของเราไม่เคยหยุดหมุน ขณะที่เราตั้งกล้องนิ่งอยู่บนโลก กล้องก็จะหมุนไปตามโลก ซึ่งทำให้เราเห็นดาวบนท้องฟ้า (ซึ่งความจริงหยุดนิ่ง) เคลื่อนที่สวนกับการเคลื่อนที่ของโลก เพื่อทำให้ภาพดาวหยุดนิ่ง จึงต้องหาระบบขาตั้งที่มีแกนหมุนตามการเคลื่อนที่ของดาวจึงจะสามารถถ่ายรูป ดาวได้ไม่เป็นขีด

วิธีการที่นักถ่ายรูปใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็คือ การนำกล้องถ่ายรูปไปขี่อยู่บนกล้องดูดาวที่มีระบบตามการเคลื่อนที่ของดวงดาว และใช้กล้องดูดาวเป็นกล้องเล็งไปในตัวเลย วิธีนี้ดวงดาวจะนิ่งเหมือนถูกจับตรึงอยู่กับที่

แต่ถ้ามีทุนทรัพย์น้อย ก็สามารถสร้างระบบตามการเคลื่อนที่ของดาวขึ้นมาเองได้ โดยอาศัยหลักการที่ว่า ดาวทุกดวงจะเคลื่อนที่รอบดาวเหนือ ซึ่งทำมุมกับประเทศไทยประมาณ 14 องศาจากพื้น ก็ให้สร้างแกนขาตั้งที่แกนทำมุมกับพื้น 14 องศาชี้ตรงไปยังดาวเหนือ และทำแท่นตั้งกล้องถ่ายรูปให้หมุนรอบแกนชี้ทิศทางเหนือ โดยใช้การหมุนตามดาวด้วยฟันเฟืองและควบคุมด้วยมอเตอร์ หรือจะใช้มือหมุนตามก็ได้ แน่นอนคุณภาพของขีดดาวอาจไม่นิ่งนัก ก็อยู่ที่ฝีมือการประดิษฐ์และการเล็งเป้าดวงดาวที่ต้องการถ่าย

ต้องการถ่ายภาพดวงหางให้ได้เต็มทั้งหัวและหาง ควรวางภาพอย่างไร?

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เมื่ออยากถ่ายภาพดาวหางให้ได้ทั้งส่วนหัวและส่วนหางก็มักจะจัดส่วนหัวเอาไว้ ชิดมุมด้านใดด้านหนึ่ง วิธีการดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะที่บริเวณขอบภาพมักจะเกิดการหักเหของแสงมาก ภาพหัวดาวหางอาจไม่ชัดเจน หรือบางทีอาจเกิดการฟุ้งกระเจิงคล้ายเป็นหางพิเศษงอกออกมาผิดส่วน เนื่องเพราะความโค้งของเลนส์ จะทำให้ภาพดังกล่าวเสียคุณค่าไป

ปกติการถ่ายรูปดวงดาวควรจะตั้งกรอบภาพด้านใดด้านหนึ่งให้ขนานกับขอบฟ้า เพื่อสามารถอ้างอิงเรื่องทิศได้ ดาวหางเฮล-บอปป์จะปรากฏเห็นอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก การเลือกทำเลถ่ายภาพที่มีฉากหน้าประกอบ จะทำให้มีเรื่องราวพิเศษเพิ่มขึ้น และภาพที่ได้ก็จะแตกต่างจากคนอื่น

การถ่ายภาพดาวหางในเวลาหัวค่ำ ขณะยังมีแสงสนธยาหรือการถ่ายภาพดาวหางในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ให้ระมัดระวังเรื่องการเปิดหน้ากล้องไห้ดี เพราะหากเปิดหน้ากล้องเต็มที่ แสงยามเช้าหรือแสงสนธยาก็จะเข้ามาเต็มที่ทำให้กลบภาพดาวหางไปเสียหมด ในช่วงเวลาดังเกล่าว อาจต้องเปิดให้แสงเข้าได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

อยากทำการทดลองวิทยาศาสตร์ขณะถ่ายรูปดาวหางได้หรือไม่?

ความจริงการถ่ายรูปดาวหางให้ได้ก็ยากพอดู แต่ถ้าอยากจะทำการทดลองวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับการถ่ายรูป ก็มีการทดลองอยู่ 2 อย่างที่น่าสนใจคือ การทดลองถ่ายภาพสเปกตรัมของดาวหาง และการทดลองถ่ายภาพหางก๊าซ และหางฝุ่นแยกจากกันทีละภาพ

การทดลองถ่ายภาพสเปกตรัมของดาวหางทำได้ไม่ยากนัก เพียงหาแท่งปริซึมมาวางที่หน้ากล้องถ่ายรูป ให้แสงดาวหางหักเหผ่านแท่งปริซึมก่อนบันทึกบนแผ่นฟิล์ม วิธีดังกล่าวเคยมีผู้ทดลองสำเร็จมาแล้ว โดยใช้แท่งปริซึมธรรมดา แต่ผลที่ได้เป็นที่น่าสนใจมาก ทำให้สามารถวิเคราะห์ธาตุต่าง ๆ บางชนิดจากภาพถ่ายได้

ส่วนการทดลองถ่ายภาพหางก๊าซอย่างเดียวและหางฝุ่นอย่างเดียว ก็ต้องอาศัยฟิลเตอร์กรองแสงเข้าช่วย ถ้าจะถ่ายให้เห็นเฉพาะหางก๊าซสีน้ำเงินต้องใส่ฟิลเตอร์ wratten 47A หากต้องการถ่ายให้เห็นเฉพาะหางฝุ่นสีขาว ให้ใส่ฟิลเตอร์ wratten 21 ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายกล้องทั่วไป

เมื่อถ่ายภาพดาวหางได้แล้วควรนำไปล้างฟิล์มที่ไหน?

เรื่องการส่งฟิล์มไปล้าง กลายเป็นตำนานปวดใจของบรรดานักถ่ายรูปดวงดาวหลายคนมาแล้ว โดยเฉพาะมักจะเกิดกับผู้ที่ถ่ายโดยฟิล์มสไลด์ พอล้างกลับมากลายเป็นรูปถูกตัดกลางทุกรูปเลย รูปที่ถ่ายมาท่ามกลางความหนาวเหน็บกว่าจะได้แต่ละรูปใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่มาถูกตัดเหมือนถูกตัดใจ ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่วงล้างฟิล์มเขาแยกไม่ออกว่าเฟรมของแต่ละภาพอยู่ที่ใด เนื่องจากฉากหลังของภาพดวงดาวมักจะเป็นสีดำทั้งหมด มันเลยกลืนกันไปตลอดทั้งม้วน

ทางแก้ไขก็คือ ทุกครั้งที่ใส่ม้วนฟิล์มใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสไลด์ หรือเนกาทีฟ ให้ถ่ายภาพอะไรก็ได้ในแสงปกติ หรือแสงแฟลช สัก 2-3 ภาพเพื่อใช้เป็นเฟรมอ้างอิง เวลาช่วงล้างฟิล์มออกมาแล้วจะได้จัดลำดับภาพที่เหลือได้ถูก แต่ต้องขอย้ำว่า รูปที่เหลือใช้ได้นะ ไม่ใช่รูปเสีย อีกวิธีหนึ่งก็คือเวลาส่งสไลด์ไปล้างให้เน้นย้ำช่างล้างว่าไม่ต้องเมาท์ หรือไม่ต้องใส่กรอบ และไม่ต้องตัดด้วย ให้ล้างออกมาเป็นม้วนเลย แล้วเรามาแยกตัดเอา วิธีแนี้แน่นอนที่สุด

ข้อสำคัญเวลาส่งฟิล์มประเภทนี้ให้กับร้านถ่ายรูป ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้และคุ้นเคย เอาใจใส่งานของเราเป็นพิเศษ อาจต้องลองผิดลองถูกดูในระยะแรก แล้วก็จะรู้ว่ามีร้านถ่ายรูปหลายร้านที่มีฝีมือที่น่าพอใจ

นอกจากการบันทึกภาพดาวหางด้วยวิธีถ่ายรูปแล้ว วิธีอื่นที่ดีกว่ามีไหม?

ปัจจุบันมีการนำเอาระบบการบันทึกภาพด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกกันว่าการบันทึกภาพด้วย CCD (charge-couple device) มาใช้กันมากขึ้น

เมื่อ 20 ปีก่อน เคยมีการนำ CCD มาบันทึกภาพดาวหาง แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก ภาพดิจิทัลของดาวหางดูไม่สวยเท่ากับภาพที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูป

แต่ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ให้ความสนใจการบันทึกภาพด้วย CCD มากกว่าภาพถ่าย เพราะภาพจาก CCD สามารถแสดงสิ่งที่ตาหรือภาพถ่ายปกติมองไม่เห็นได้ ช่วยให้การศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก และมีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นไม่น้อยที่สนใจการบันทึกภาพ CCD เพราะมีความสะดวกสบายกว่าการใช้กล้องถ่ายรูปหลายประการ

ที่สำคัญคือ CCD มีระบบตามดาวอัตโนมัติที่แม่นยำกว่าการตามดาวโดยวิธีหมุนกล้องตาม โดยเฉพาะในช่วงที่ดาวหางมีการเคลื่อนที่เร็ว อย่างเช่นดาวหางเฮียกุตาเกะในช่วงเดือนมีนาคมเคลื่อนที่เร็วมาก การใช้ CCD สะดวกกว่ากล้องถ่ายรูปมาก และภาพจาก CCD ก็ยังสามารถเก็บไว้ในแผ่นดิสก์ได้ แถมยังสามารถแสดงผลให้ผู้คนชมได้จากหน้าจอมอนิเตอร์อีกด้วย

วิทยาการ CCD กำลังมีบทบาทสำคัญในวงการดาราศาสตร์ ถึงกับมีการแยกสายการศึกษาออกมาเป็น CCD Astronomy ทีเดียว

เห็นโฆษณาขายกล้องโทรทรรศน์ตามหนังสือพิมพ์ กำลังขยายตั้งหลายร้อยเท่า ราคาอันละ 6,000 บาท จะซื้อกล้องแบบนี้ดีไหม?

เรามักเห็นกล้องโทรทรรศน์วางขายตามห้างอยู่บ่อย ๆ หรือลงโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ มักมีขนาดหน้ากล้องประมาณ 1 นิ้วเศษ ๆ และโฆษณาว่ากำลังขยายห้าร้อยหกร้อยเท่า ราคาหลักพัน แถมขาตั้งอีกต่างหาก กล้องพวกนี้มีคุณภาพตั้งแต่แย่จนถึงแย่มาก ไม่แนะนำให้ซื้อ

มีหลักเกณฑ์พื้นฐานง่าย ๆ ในการดูโฆษณากล้องอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าโฆษณาใดเอากำลังขยายมาเป็นตัวอวดสรรพคุณ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นกล้องคุณภาพต่ำ


อยากเห็นวงแหวนดาวเสาร์ ต้องใช้กล้องขนาดไหนจึงจะมองเห็น?

วงแหวนดาวเสาร์ไม่ใช่สิ่งลึกลับอะไรเลยสำหรับนักดูดาว เพราะเพียงแค่กล้องสองตากำลังขยาย 10 เท่าก็มองเห็นแล้ว แต่ถ้าจะเห็นชัดเจนก็ต้องสัก 20 เท่าขึ้นไป

กล้องดูดาวที่ใหญ่ที่สุดคือกล้องอะไร อยู่ที่ไหน?

อยากทราบกล้องแบบไหนหล่ะ?

กล้องที่ใช้งานในย่านแสงที่มนุษย์มองเห็น
กล้องเคก ตั้งอยู่ที่ภูเขามานาเคอา ฮาวาย เส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง 10 เมตร
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ
หอสังเกตการณ์เอรีซีโบ อยู่ที่ประเทศเปอร์โตริโก จานรับสัญญาณกว้าง 305 เมตร
กล้องอินฟราเรด
กล้องไอโซ ขององค์การอวกาศยุโรป
กล้องอัลตราไวโอเลต
กล้องอียูวีอี (Extreme Ultraviolet Explorer) ขององค์การนาซา
กล้องรังสีเอกซ์
กล้องไอน์สไตน์ ขององค์การนาซา
กล้องรังสีแกมมา
หอดูดาวรังสีแกมมาเฟรดลอว์เรนซ์วิปเพิล (Fred Lawrence Whipple Gamma-Ray Observatory (SAO) )
กล้องรังสีคอสมิก
The High Resolution Fly's Eye Cosmic Ray Detector HiRes

เห็นนักดูดาวหลายคนชอบใช้กล้องสองตาดูดาว สงสัยจริง ๆ ว่ากล้องแค่นั้นจะไปเห็นอะไร?

กล้องสองตาหรือกล้องส่องทางไกล ถือว่าเป็นคู่หูตัวจริงของนักดูดาว เห็นกล้องเล็ก ๆ แค่นั้นก็เถอะ ด้วยกำลังขยายเพียง 10-12 เท่าของกล้องสองตา ก็เห็นสิ่งต่าง ๆ บนท้องฟ้าได้ชัดเจนกว่าที่กาลิเลโอเคยใช้กล้องดูดาวกำลังขยาย 32 เท่าเสียอีก กล้องขนาดเท่านี้ เพียงพอที่จะมองเห็นเนบิวลา กระจุกดาว และดาราจักรได้หลายสิบแห่ง มองเห็นข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์ได้ เห็นหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์นับร้อยนับพันหลุม เห็นบริวารของดาวพฤหัสบดีได้สี่ดวง แม้แต่วงแหวนดาวเสาร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับกล้องสองตา







วิมุติ วสะหลาย

ที่มา : http://thaiastro.nectec.or.th/library/faqs/faq_telescope.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น