20 สิงหาคม 2554

6 ปัญหา Big Big ของคอมพิวเตอร์กับทางแก้ที่แสนจะง่าย

"คอมพิวเตอร์ไม่ได้มีไว้ให้คุณใช้งานเพียงฝ่ายเดียว" ที่ผมเกริ่นอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้คอมพิวเตอร์หันมาใช้คุณแทนนะครับ แต่ผมกำลังจะบอกว่า คอมพิวเตอร์ก็มีชีวิตจิตใจ และต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคุณอยู่เสมอ เพราะอย่าลืมว่าเมื่อมีการใช้งานเกิดขึ้น บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่าครั้งไหนมันกำลังสร้างปัญหา และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ สะสมไว้มากๆ จากปัญหาเล็กๆ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในพริบตา

ตัวผมเอง ในฐานะที่คลุกคลีตีโมงกับคอมพิวเตอร์มานาน จนบางครั้งญาติสนิทมิตรสหายก็หลงเข้าใจผิด คิดว่าทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ผมจะต้องแก้ไขได้ จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอกครับ แต่ผมมีผู้ช่วยเยอะ ก็จะอาศัยความรู้จากพ็อกเตบุ๊กบ้าง เว็บไซต์ต่างๆ บ้าง หรือไม่ก็เพื่อนๆ บ้าง ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ผมแก้ปัญหาได้แบบสุดแสนจะ Work แล้ว

จริงๆ แล้วการดูแลคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยสักนิด เพียงแค่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมา แล้วคุณพยามแก้ไขมัน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการดูแลรักษาได้เหมือนกัน แต่ในบางครั้งคุณอาจต้องใช้เวลาเพื่อแก้ไขบ้างสักนิด เพราะบางปัญหามันอาจจะรุนแรงและเกินเลยขอบเขตที่คอมพิวเตอร์จะสามารถจัดการ ก็ต้องอาศัยมือผู้ใช้อย่างเราๆ นี่แหละครับที่ต้องช่วยเหลืออีกแรง
เอาละครับ เรามาดูกันเถอะว่า 6 ปัญหายอดฮิต ที่คุณๆ อาจจะเคยเจอ หรืออาจจะต้องเจอเข้าสักวันนั้น มีอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ไขอย่างไร





  • เปิดคอมพ์ไม่ติด














  • ถ้าจะให้บอกสาเหตุของการเปิดเครื่องคอมพ์ไม่ติดว่ามีอะไรบ้างนั้น คงไม่สามารถตอบได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน หรือถูกต้องแบบฟันธงตรงเป๊ะๆ ได้หรอกครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วที่มาของปัญหานี้เกิดขึ้นได้หลายทาง ดังนั้น สาเหตุจึงไม่ได้ตายตัว แต่ก็พอสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้



    A. แหล่งจ่ายไฟมีปัญหา : สิ่งแรกที่คุณต้องตรวจสอบคือ เพาเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของของเครื่อง หากปัญหาทั้งหมดอยู่ที่นี่ ก็เท่ากับว่าคอมพิวเตอร์จะไม่มีแหล่งพลังงานเลย วิธีการตรวจสอบว่าเพาเวอร์ซัพพลายทำงานเป็นปกติดีหรือไม่นั้น ให้คุณเปิดสวิตช์เครื่องอีกครั้ง แล้วสังเกตดูว่าพัดลมที่อยู่ด้านหลังเพาเวอร์ซัลพลายหมุนหรือไม่ ถ้ามันไม่ทำงานให้ปิดสวิตช์เครื่องทันที ตอนนี้เราพอทราบสาเหตุคร่าวๆ ของปัญหาแล้วว่ามาจากส่วนใด คุณอาจต้องเปิดฝาของเพาเวอร์ซัพพลายออกมา แล้วมองหาฟิวส์เพื่อดูว่ามันขาดแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่หากฟิวส์ขาดพัดลมจะไม่หมุนเลย ทำให้เราทราบว่าปัญหาอยู่ที่ใด และยากที่แผงวงจรจะเสียง่ายๆ อีกด้วย หากคุณมั่นใจว่ามันไม่มีกลิ่นไหม้ออกมา ปัญหานี้ก็จบอยู่ที่การเปลี่ยนฟิวส์ที่ขาดด้วยของใหม่



    B. การเชื่อมต่อสายไฟ : ถ้าเพาเวอร์ซัพพลายของคุณยังใช้งานได้ดี สิ่งที่คุณต้องตรวจสอบต่อไปก็คือ สายไฟจ่ายพลังงานของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ดูอีกทีว่าเสียบแน่นหรือไม่ เพราะเมนบอร์ดมาตรฐานต่ำบางรุ่น มักจะไม่ตอบสนองต่อการเปิดสวิตช์เลย หากคุณเสียบสายเพาเวอร์ของฮาร์ดดิสก์หลวมหรือไม่ได้เสียบเลย รวมทั้งการ์ดแสดงผลที่ต้องการแหล่งจ่ายไฟเพิ่มจากเพาเวอร์ซัพพลาย อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งผลต่อการเปิดเครื่องติดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ให้คุณตรวจดูที่หัวต่อของสายไฟว่ามีการหักงอด้วยหรือไม่ เพราะมันอาจทำให้ไฟไปเลี้ยงอุปกรณ์ไม่ได้ และอย่าลืมตรวจดูสายสัญญาณที่ต่อจากสวิตช์เปิดเครื่องมาที่เมนบอร์ดด้วยว่าต่อถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าคุณต่อผิดหรือไม่ได้ต่อเลย ก็อย่าหวังว่ามันจะเปิดติดขึ้นมา



    C. แบตเตอรี่่หมด : ถ้าคุณคิดว่าแบตเตอรี่่ก้อนเล็กๆ ที่มีไว้จ่ายพลังงานให้กับไบออสไม่สำคัญละก็ คุณคิดผิดอย่างแน่นอน เพราะมันมีผลต่อการเปิดเครื่องเช่นกัน ผมพบว่าเครื่องคอมพ์ที่มีแบตเตอรี่ใกล้จะหมดอย่แล้ว มักมีปัญหาเรื่องการเปิดเครื่องให้ติดมากกว่าเครื่องที่มีแบตเตอรี่อยู่เต็มเปี่ยม ทางที่ดีถ้าคุณไม่เคยเปลี่ยนมันเลยตลอดระยะเวลา 3 ปี ผมแนะนำให้ควักเงิน 35 บาท แล้วไปซื้อมันมาเปลี่ยนซะ



    D. อุปกรณ์เชื่อมต่อมีปัญหา : อาการเปิดสวิตช์เครื่องแล้วไม่ติดขึ้นมา สาหตุนั้นนอกจากแหล่งจ่ายไฟมีปัญหาแล้ว ยังรวมไปถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อที่คุณได้ติดตั้งลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ์ดเสียง การ์ดแสดงผล โมเด็ม การ์ดแลน ฯลฯ อุปกรณ์พวกนี้ต้องอาศัยแหล่งพลังานที่มากจากพอร์ตหรือช่องสล็อตที่มันเชื่อมต่ออยู่ โดยปกติแล้วไบออสจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่ หากพบว่ามีอุปกรณ์ตัวใดเสียบไม่แน่น หรือไม่ตอบสนองก็จะแจ้งเตือนให้ทราบ แต่บางครั้งการที่อุปกรณ์ไม่ตอบสนองก็สามารถทำให้เปิดเครื่องขึ้นมาไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะหน่วยความจำนั้นจะเป็นสาเหตุหลัก วิธีแก้ไขคือ ให้คุณถอดอุปกรณ์ต่อพ่วงรวมทั้งหน่วยความจำออกมาทำความสะอาด โดยใช้ยางลบถูบริเวณขาทองแดงทั้งสองด้าน แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดอีกที การทำความสะอาดด้วยวิธีก็เพื่อให้ออกไซด์ที่มาจับหลุดอกไป ซึ่งช่วยให้มันนำไฟฟ้าและสัญญาณได้ดีขึ้นด้วย



    E. เมนบอร์ดเสียหาย : หลายครั้งที่การถอดเปลี่ยนชุดระบายความร้อนให้กับซีพียูจำเป็นต้องใช้ไขควงเข้ามาช่วย ซึ่งเจ้าไขขวงนี่แหละครับที่ทะลวงเมนบอร์ดของใครมานักต่อนัก เพราะความไม่ระวังคุณจึงออกแรงดันไขขวงมากไปหน่อย จนมันไปเสียบเอาลายวงจรขาดไปหนึ่งเส้น ถ้าโชคดีเป็นเส้นทองแดงที่ยังไม่ส่งผลร้ายแรงในตอนแรก คุณก็จะไม่รู้ตัวเลยว่าได้ทำเมนบอร์ดเสียหายไปแล้ว บางคนมือดีไปแทงเอาเส้นเลือดใหญ่บนเมนบอร์ด ซึ่งเป็นลายวงจรที่เชื่อมต่อมาจากซ็อกเก็ตของซีพียู ถ้าโดนแบบนี้ก็พังแน่นอนครับ และที่มันเปิดไม่ติดก็เพราะว่าคุณไม่รู้ตัวนั่นเองว่าทำมันพังไปแล้ว







  • เครื่องทำงานช้า














  • มีหลายเหตุผลอีกเช่นกันที่ทำให้คอมพ์ทำงานช้า ทั้งปัญหาจากไวรัส วอร์ม สปายแวร์ รวมทั้งพื้นที่ในฮาร์ดดิสก์ของคุณเริ่มจะไม่เพียงพอก็มีส่วนเช่นกัน แถมท้ายด้วยการโอเวอร์คล็อกความเร็วซีพียู การ์ดจอ แรม หากคุณโอเวอร์คล็อกมันจนเกิดภาวะโอเวอร์โหลดที่อุปกรณ์จะรับไหว ผลที่ตามมาคือความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมๆ กับการทำงานที่ช้าลงด้วย เราไปดูสาเหตุกันว่ามีอะไรทำให้เครื่องช้าบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร



    A. ภัยจากไวรัส : ไวรัสบางชนิดนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับข้อมูลแล้ว มันยังชอบทำให้เครื่องของคุณทำงานช้าลงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบส่งข้อมูลในเครื่องคุณกลับไป รวมทั้งการเปิดประตูหลังเพื่อให้ไวรัสตัวอื่นๆ เข้ามาได้ แบบนี้จะยิ่งช้าลงไปใหญ่ นอกจากไวรัสแล้วผมขอรวมพวก Spyware ลงไปด้วย เพราะเป็นโค้ดโปรแกรมที่ทำให้เครื่องช้าเหมือนกัน การกำจัดเจ้าพวกนี้คุณต้องหมั่นคอยอัพเดตแพตซ์ของวินโดวส์อยู่บ่อยๆ รวมทั้งโปรแกรมตรวจจับไวรัสและ Spyware ด้วยเช่นกัน



    B. Startup Program : ในระหว่างที่เปิดเครื่องขึ้นมา นอกจากวินโดวส์จะถูกโหลดเข้าสู่หน่วยความจำแล้ว ยังมีโปรแกรมเซอร์วิสอื่นๆ อีกที่ถูกโหลดมาด้วย โปรแกรมบางตัวก็มีความสำคัญกับระบบ เช่น สแกนไวรัส แต่ก็มีโปรแกรมอีกมากทีเดียวที่คุณสามารถยกเลิกไม่ให้มันโหลดขึ้นมาพร้อมๆ กับวินโดวส์ ยกตัวอย่างถ้าคุณเพิ่งติดตั้งโปรแกรม Winamp, WinZip และ ACDSee ลงไปใหม่ หลังจากรีบูตเครื่อง มันจะเซตัวเองให้โหลดขึ้นมาด้วย โดยจะไปฝังตัวอยู่ที่ทาสก์บาร์มุมขวาล่าง ให้คุณสั่ง Disable มันออกไปจากตัวเลือกออปชันของโปรแกรม หรือถ้าบางตัวไม่มีให้คุณจัดการยกเลิกเอง โดยพิมพ์ msconfig ที่หน้าต่าง Run จากนั้นไปที่แท็บ Startup แล้วเอาเครื่องหมายถูกหน้าชื่อโปแกรมนั้นๆ ออก นอกจากโปรแกรมสามตัวนี้แล้ว ยังมียูทิลิตี้ของอุปกรณ์ เช่น พรินเตอร์ สแกนเนอร์ มัลติฟังก์ชัน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะมียูทิลิตี้ที่เราไม่ใช้งานตลอดเวลาถูกโหลดขึ้นมาตอน Startup ด้วย แนะนำให้เอายูทิลิตี้พวกนี้ออกไปด้วย



    C. Unused Services : วินโดวส์จะโหลดโปรแกรมซึ่งเรียกว่าเป็นเซอร์วิสไว้คอยให้บริการด้านต่างๆ ทั้งบริการตัวคุณเอง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และโปรแกรม แต่เซอร์วิสพวกนี้ก็ต้องพื้นที่บนหน่วยความจำเช่นกัน ยิ่งมีมากก็ยิ่งใช้หน่วยความจำมาก ทั้งๆ ที่เซอร์วิสบางตัวถูกโหลดขึ้นมาแต่ไม่ได้ใช้งานเลย ซึ่งคุณสามารถยกเลิกการทำงานของเซอร์วิสที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านี้ได้เอง การเปิดดูหน้าต่างเซอร์วิสให้พิมพ์คำสั่ง msconfig ที่ Run จากนั้นเลือกที่แท็บ Service ให้คุณมองหาบริการที่มาจากพรินเตอร์ สแกนเนอร์ของอุปกรณ์ที่ได้ติดตั้งไป เพราะจะมีเซอร์วิสบางตัวที่เราไม่ต้องการใช้งานรวมทั้งวินโดวส์เองด้วย โดยเฉพาะเซอร์วิสที่มาจากโปรแกรมต่างๆ นั้น ให้พิจารณาดูว่าตัวไหนไม่ได้ใช้งานหรือแทบจะไม่ต้องใช้งานเลยให้เอาออกไป เพื่อคืนทรัพยากรอันมีค่าสู่ระบบ



    D. Unused Program : การติดตั้งโปรแกรมเอาไว้ในเครื่องยิ่งมากก็จะยิ่งทำให้การทำงานช้าลง โดยเฉพาะตอนที่บูตเข้าหน้าต่างเดสก์ทอปของวินโดวส์นั้น หากเราลงโปรแกรมเอาไว้เป็นจำนวนมาก วินโดวส์จะสแกนตรวจสอบรีจิสทรีของโปรแกรมต่างๆ รวมทั้งโหลดค่าเซตอัพของโปรแกรมบางตัวขึ้นมาด้วย ผลที่ตามมาคือคุณจะเห็นได้ชัดเลยว่า กว่าที่วินโดวส์จะเข้าสู่หน้าจอเดสก์ทอปจะเสียเวลามาก ยิ่งโปรแกรมมีมากเท่าไรก็จะยิ่งเสียเวลามากขึ้นเท่านั้น แนะนำให้คุณ Uninstall โปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานออกไปเลยจะดีกว่า แล้วใช้โปรแกรมทำความสะอาดอย่าง "CCleaner" เก็บกวาดชิ้นส่วนของโปรแกรมที่คาดว่าจะหลงเหลืออยู่ในเครื่องออกไปให้หมดด้วย



    E. ฮาร์ดดิสก์เหลือน้อยเกินไป : สาเหตุหลักอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เครื่องคอมพ์ทำงานช้าก็คือ ฮาร์ดดิสก์เหลือเนื้อที่ไม่เพียงพอ โดยปกติแล้วระบบปฏิบัติการนอกจากจะทำหน้าที่โหลดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาเมื่อคุณสั่งให้มันรันแล้ว ยังต้องจองพื้นที่หน่วยความจำให้กับโปรแกรมเหล่านี้ด้วย หากหน่วยความจำเหลือเนื้อที่ไม่พอก็จะแม็พไปไว้ในฮาร์ดดิสก์ชั่วคราวก่อน (Virtual Memory) เห็นได้ชัดว่าหากฮาร์ดดิสก์ของคุณมีเนื้อที่เหลือไม่พอ ระบบปฏิบัติการก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวเลย มันจะพยามมองหาที่ว่างให้คุณอยู่ตลอด จนในที่สุดก็ดึงโหลดให้กับซีพียูมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือเครื่องจะทำงานอืดลงเรื่อยๆ ตอนนี้ฮาร์ดดิสก์ขนาด 40 GB ราคาสองพันต้นๆ ถ้าคุณมีเงินเหลือเฟือแนะนำให้ซื้อมาเพิ่มโดยด่วน แต่ถ้าชอบความประหยัดก็ให้เคลียร์โปรแกรมที่ไม่ได้ใช้ออกไป รวมทั้งทำความสะอาดไดรฟ์ต่างๆ ที่คุณเก็บขยะเอาไว้จนกองโต สุดท้ายอย่าลืมใช้บริการ Disk Defragmenter เพื่อจัดเรียงข้อมูลให้ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล







  • ฮาร์ดแวร์ไม่ทำงาน














  • ปัญหานี้ค่อนข้างใหญ่ครับ เพราะการที่ฮาร์ดแวร์ไม่ทำงาน หมายถึงว่ามันมีโอกาสเสียเช่นกัน แต่ก็ขอให้ตรวจสอบดูให้แน่ชัดก่อนที่คุณจะนำไปร่อนลงน้ำ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเมื่อรู้ว่ามันไม่ทำงานก็คือ ถอดมันออกมาดูด้วยตาว่ามีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ ใช้จมูกของคุณให้มีประโยชน์ในการดมกลิ่นที่เหม็นไหม้ด้วย อุปกรณ์บางตัวต้องการสัญญาณกระตุ้นจากระบบพีซีเพื่อให้มันทำงาน ซึ่งเราอาจต้องทดสอบด้วยการนำไปต่อกับพีซีเครื่องอื่นๆ ด้วย ไปดูสาเหตุที่น่าจะใช่กันดีกว่าครับ



    A. ไดรเวอร์ผิดตัว : บ่อยครั้งที่อุปกรณ์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นใกล้เคียงกัน แถมยังมีชื่อคล้ายกันจะทำให้คุณสับสนตอนที่ลงไดรเวอร์ ซึ่งถ้าโชคดีเจออุปกรณ์บางตัวที่พอจะอะลุ่มอล่วยให้คุณได้ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเจออุปกรณ์เขี้ยวลากดินที่ไม่ยอมทำงานหรือตอบสนองเลย หากติดตั้งไดรเวอร์ที่ผิดเวอร์ชันลงไป อาการแบบนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากครับ ก่อนอื่นเปิดหน้าต่าง Device Manager ขึ้นมา ดูรายการอุปกรณ์ด้านล่างว่ามีเครื่องหมายแสดงอาการอะไรหรือไม่ (หากมันถูกเปลี่ยนค่าไปเป็น Disables ให้คุณ Enable มันซะ) เมื่อตรวจสอบดูแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ ให้เข้าไปดูไดเวอร์ของอุปกรณ์ที่ไม่ทำงานว่ามีเวอร์ชันตรงกับที่เสปกระบุไว้หรือไม่ (คลิ้กขวาที่รายชื่ออุปกรณ์แล้วเลือก) โดยส่วนใหญ่แล้วอุปกณ์เชื่อมต่อภายนอกที่ใช้พอร์ต USB นั้นมักจะมีปัญหากับไดรเวอร์มากที่สุด คุณอาจต้องเข้าไปยังเว็บไซต์ของผู้ผลิตเพื่ออัพเดตไดรเวอร์ตัวล่าสุดที่ตรงกับอุปกรณ์มาใช้แทนไดรเวอร์ที่วินโดวส์จัดให้



    B. ติดตั้งฮาร์ดแวร์ไม่ถูกต้อง : อุปกรณ์เก็บข้อมูลอย่างฮาร์ดดิสก์ ก็มีวิธีการติดตั้งที่เป็นแบบแผนเช่นกัน หากคุณซื้อฮาร์ดดิสก์มาเพิ่ม แล้วนำไปเสียบทันทีมันอาจจะไม่ทำงานหรือระบบมองไม่เห็นก็เป็นได้ นั่นก็เพราะว่าการต่อฮาร์ดดิสก์ตัวที่สอง ตัวที่สาม หากเป็นการใช้ช่อง IDE เดียวกัน สิ่งที่คุณต้องทำคือเลือกให้ฮาร์ดดิสก์ตัวหนึ่งเป็น Master และอีกตัวหนึ่งเป็น Slave โดยปรับตำแหน่งที่จัมเปอร์ด้านหลังของฮาร์ดดิสก์ให้ตรง การต่อสายแพเข้ากับฮาร์ดดิสก์ที่เป็น Master ต้องต่อเข้าที่ปลายสายด้านหนึ่ง ส่วนฮาร์ดดิสก์ที่เป็น Slave จะต่ออยู่ตรงคอนเน็กเตอร์กลางสายแพนั่นเอง สำหรับฮาร์ดดิสก์แบบ SATA นั้นช่องใครช่องมันครับ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ นั้น หากคุณติดตั้งมันไม่แน่น หรือมีส่วนหนึ่งส่วนใดหลวมก็อาจทำให้ระบบตรวจสอบมันไม่พบได้เช่นกัน



    C. Hardware Confliction : ปัญหาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ชนกันไม่พบบ่อยมากนักบนระบบพีซีรุ่นใหม่ๆ แต่ถ้าคุณใช้เครื่องเก่าอยู่ละก็ไม่ต้องห่วงครับ เพราะผมมีคำตอบดีๆ มาฝาก วิธีตรวจสอบว่าอุปกรณ์ตัวใด Conflict กันหรือไม่นั้น สามารถเข้าไปดูได้จากโปรแกรม System Information ครับ ซึ่งอยู่ในหัวข้อ System Tools ใน Accessories นั่นเอง ให้เลือกที่รายการ Hardware Resource->Conflict/ Sharing ที่หน้าต่างด้านขวาจะรายงานให้คุณทราบว่าอุปกรณ์ตัวใดแชร์ I/O port, IRQ หรือใช้ Memory Address ร่วมกันบ้าง อุปกรณ์บางตัวอาจต้องการใช้ทรัพยากรพวกนี้เพียงผู้เดียว ดังนั้น ให้คุณเข้าไปดูในรายการ Component->Problem Device ว่ามีรายการของอุปกรณ์ที่มีปัญหาแสดงอยู่หรือไม่ สำหรับการกำหนดค่า IRQ, I/O Range และ Memory Range ให้กับอุปกรณ์ที่แสดงสถานะ Conflict นั้น (เข้าไปดูได้ในแท็บ Resource ที่ช่อง Conflict device list) สามารถแก้ไขได้ที่ปุ่ม Change Setting เพียงแต่คุณต้องเข้าไปดูรายละเอียดของอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ด้วยว่ามีการจับจองทรัพยากรเหล่านี้ไปแล้วหรือยัง ถ้ามีการจับจองไว้แล้ว ได้เปิดแชร์เอาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นหากคุณกำหนดเองโดยพลการก็จะทำให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นอีก







  • คอมพ์สะดุดขณะใช้งาน














  • เคยพบอาการสะดุดเวลาใช้งานคอมพิวเตอร์กันบ้างไหมครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่เจอเป็นประจำ เพราะชอบทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน จนซีพียูแทบร้องครางหงิงๆ เวลาที่คอมพ์ทำงานกระตุกนั้น ไม่ได้กระตุกเฉพาะโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งนะครับ แต่มันกระตุกไปทุกๆ โปรแกรมที่ถูกเปิดใช้งาน นอกจากนี้ก็มีสาเหตุอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้



    A. ปัญหาจาก Bad sector : ฮาร์ดดิสก์ที่มี Bad Sector กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากนั้น แน่นอนว่ามันทำให้การเข้าถึงข้อมูลล่าช้า ทั้งอ่าน/เขียน ระบบปฏิบัติการจะส่งตำแหน่งแอดเดรสไปยังชิปคอนโทรลเลอร์ของฮาร์ดดิสก์เพื่อค้นหาข้อมูล หรือแม้แต่มองหาตำแหน่งว่างๆ ที่จะเขียนข้อมูลลงไป หากว่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในฮาร์ดดิสก์มี Bad Sector เป็นจำนวนมาก การทำงานของคอนโทรลเลอร์ก็จะนานขึ้นไปอีก ปัญหานี้หากคุณไม่เคยสแกนดิสก์แล้วสั่งให้ Fix Bad Sector เลยละก็ รับรองว่าอาการกระตุกเวลาใช้งานโปรแกรมต่างๆ ถามหาแน่



    B. ความไม่ต่อเนื่องของไฟล์ : ผมพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ฮาร์ดดิสก์ที่เก่าลายคราม ซึ่งถูกใช้งานมานานจะไม่สามารถจัดการกับปัญหา File Fragmentation (ความมีต่อเนื่องของข้อมูล) ได้ดีพอ หากข้อมูลของคุณอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่วฮาร์ดดิสก์ โดยขาดความต่อเนื่องแล้วละก็ เมื่อเปิดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาทำงานก็จะพบกับอาการกระตุกทันที ซึ่งจะพบอาการแบบนี้อย่างรุนแรงบนฮาร์ดดิสก์ตัวเก่าที่กลไกการทำงานเริ่มจะฝืดลง วิธีแก้นั้นไม่ยากครับ ใช้บริการสแกนดิสก์ของวินโดวส์ก่อน แล้วตามด้วย Disk Defragmenter เพื่อเรียงข้อมูลให้มีความต่อเนื่องกัน (โปรแกรม Defrag ของวินโดวส์จะไม่สนใจความต่อเนื่องของโครงสร้างไดเรกทอรี ดังนั้น ถ้าคุณต้องการความต่อเนื่องแบบแนบชิดจริงๆ อาจต้องพึ่งพาโปรแกรมตัวอื่นๆ มาทำหน้าที่แทนครับ)



    C. Bot & Spyware : มันมาอีกแล้วครับ เจ้าพวกสายพันธ์ไวรัสทั้งหลาย กลับมาสร้างอาการกระตุกให้กับพีซีของคุณได้เรื่อยๆ ทั้ง Bot และ Spyware เป็นโปรแกรมตัวเล็กๆ ที่ฝังตัวอยู่ในเครื่องของคุณ และมักจะเขมือบทรัพยากรเป็นว่าเล่น จนทำให้ระบบขาดแคลนทรัพยากรสำหรับใช้งานกับโปรแกรมต่างๆ ถ้าเครื่องของคุณเริ่มออกอาการกระตุกให้เห็น แนะนำให้เปิดหน้าต่าง Windows Task Manager ขึ้นมา (กด Ctrl+Alt+Delete) เลือกไปที่แท็บ Performance แล้วดูว่ากราฟการใช้งานซีพียูพุ่งขึ้นสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ รวมทั้งดูที่ค่าของ PF Usage ว่ามีการใช้งาน Page File มากผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แนะนำให้คุณรันโปรแกรมอย่าง Spybot เพื่อตรวจจับและทำลายมัน รวมทั้งสแกนตรวจสอบ Spyware ในเครื่องตบท้ายด้วย



    D. ความร้อนที่พุ่งขึ้นสูง : คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบระบายความร้อนไม่ดีพอ จะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของซีพียู อุณหภูมิที่พุ่งสูงเกินกว่า 65 องศา เป็นเวลานานต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะซีพียูของคุณจะอยู่ในสภาวะความร้อนแบบเผาทั้งเป็น หากมีการใช้งานโปรแกรมที่กินทรัพยากรซีพียูในระหว่างนั้นมากเป็นพิเศษด้วยละก็ โปรแกรมต่างๆ อาจแสดงอาการกระตุกให้เห็นเป็นระยะๆ จนในที่สุดซีพียูก็ทนไม่ไหว ระบบจึงแฮงก์ตามาทันที ปัญหาความร้อนนี้แก้ได้อย่างง่ายๆ เลย ให้คุณถอดชุดระบายความร้อนมาทำความสะอาดปัดฝุ่นที่เกาะอยู่ออกให้หมด หากต้องการโอเวอร์คล็อกด้วยผมแนะนำให้ซื้อชุดพัดลมระบายความร้อนที่มีฮีตไปป์ในตัว สนนราคา 1,200 บาท เท่านั้น (ยี่ห้ออะไรนั้นไปสืบกันดู) โดยมันสามารถลดความร้อนได้มากถึง 25-35 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ใครคิดจะโอเวอร์คล็อกก็ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะร้อนเกินอีกแล้ว







  • คอมพ์ต่อเน็ตไม่ได้














  • สำหรับหัวข้อนี้จะขอพูดถึงเฉพาะอินเทอร์เน็ตแบบ ไฮ-สปีด เป็นหลักนะครับ เพราะน่าจะมีจำนวนผู้ใช้งานมากแล้วตอนนี้ ปัญหาคอมพ์ต่อเน็ตไม่ได้ หรือต่อได้แต่ไม่วิ่งนั้น สาเหตุมีเพียงไม่กี่อย่างครับ เป็นปัญหาที่อยู่ในขอบเขตของการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง นั่นก็เพราะว่าการเชื่อมต่อคอมพ์เข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการจะมีวิธีการที่ตายตัว ประมาณว่านับ 1-2-3...ซึ่งหากว่าไม่สามารถเชื่อมต่อได้ เราก็ย้อนกลับไปดูขั้นตอนทีละขั้นว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไปหรือไม่



    A. จุดเชื่อมต่อถูกต้องหรือยัง : ปัญหาเล็กๆ น้อยอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆ ผิดพลาดนั้น ทำให้เซียนตกม้าตายมานักต่อนัก ถ้าคุณเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเคยติดตั้งอินเทอร์เน็ตแบบ ไฮ-สปีด แนะนำให้ใช้บริการติดตั้งซึ่งส่วนใหญ่จะฟรีจากผู้ให้บริการจะดีกว่า แล้วคุณค่อยจดรายละเอียดว่าเขาต่อสายอะไรตรงไหนบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องเสียเวลาไปอีกนาน สำหรับเพาเวอร์ยูสเซอร์ที่มีคอมพ์หลายเครื่อง โดยเฉพาะร้านเกมส์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้เราเตอร์มาช่วยทำหน้าที่แชร์เน็ตเวิร์กนั้น หากคุณเสียบสายสัญญาณไม่ถูกจุดก็อาจเป็นการวางยาตัวเองไปโดยปริยาย การจดบันทึกตำแหน่งการติดตั้งลงในกระดาษจะช่วยได้มาก หากคุณไม่ลืมกระดาษแผ่นนั้นไปเสียก่อน

    B. เซิร์ฟเวอร์ของ ISP เกิดปัญหา : สำหรับสาเหตุนี้คงไม่พบกันบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP จะดูแลและตรวจสอบการทำงานของระบบเซิร์ฟเวอร์เป็นอย่างดี แต่ผู้ให้บริการบางรายก็อาศัยการทำงานของเซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศเช่นกัน หากวันหนึ่งเกิดปัญหาขัดข้องขึ้นมา ผู้ใช้จะไม่รู้เลยว่าเซิร์ฟเวอร์นั้นอยู่ในสถานะ Out-of-Service ไปเรียบร้อยแล้ว ความพยามที่จะเชื่อมต่อระบบจะไม่เป็นผลแต่อย่างใด



    C. Firewall บล็อกพอร์ต : ถึงแม้ว่าคุณจะเซิร์ฟเน็ตได้แล้วก็ตามที แต่หลังจากนั้นพอติดตั้งแอพพลิเคชันอื่นๆ เช่น เกมออนไลน์ โปรแกรมดาวน์โหลดประเภท Bittorrent ทั้งหลาย กลับไม่วิ่งซะอย่างนั้น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า Firewall ของวินโดวส์ได้บล็อกพอร์ตใช้งานของแอพพลิเคชันเหล่านี้เอาไว้ รวมทั้ง Firewall ตัวอื่นๆ ที่คุณติดตั้งลงในเครื่องด้วย สิ่งที่ต้องทำก็คือบอก Firewall ให้รู้ว่ามีแอพพลิเคชันทางด้านอินเทอร์เน็ตตัวใดบ้างที่ต้องการใช้งานพอร์ตพิเศษที่นอกเหนือไปจากการเล่นอินเทอร์เน็ตทั่วไป โดยเข้าไปที่ Control Panel->Windows Firewall ที่แท็บ Exceptions หากไม่มีตัวเลือกของโปรแกรมที่ต้องการให้มีการติดต่อผ่านเน็ตเวิร์คอยู่ในรายการ คุณต้อง Add Program เข้าไปเอง ซึ่งอาจรวมถึงกำหนดพอร์ตใช้งานสำหรับโปรแกรมบางตัวด้วย เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ Firewall ก็จะบล็อกการเชื่อมต่อจากภายนอกที่ร้องขอเข้ามาทั้งหมด ถ้าคุณคิดจะไม่เปิดการทำงานของ Firewall ละก็เสี่ยงต่ออันตรายเช่นกัน สำหรับโปรแกรม Firewall อื่นๆ ให้ใช้วิธีเดียวกันนี้กำหนดรายชื่อโปรแกรมกับพอร์ตที่ใช้งาน ซึ่งตัวเลือกนั้นจะมีชื่อคล้ายๆ กัน



    D. Internet Sharing Problems : การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านการแชร์จากเครื่องอื่นๆ นั้น หากเกิดปัญหาขึ้นมาคุณจะไม่สามารถแก้ไขเองได้เลย เพราะการกำหนดค่าการใช้งานทุกอย่างจะอยู่กับเครื่องที่ทำหน้าที่แชร์ ยกตัวอย่างของการใช้อินเทอร์เน็ตตามหอพักต่างๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สายนั้น ผู้ดูแลจะทำหน้าที่กำหนดยูสเซอร์และจำนวนผู้ที่สามารถใช้งานได้ อุปกรณ์อย่าง ADSL Router จะทำหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ให้ หากผู้ใช้บริการต้องการดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ แต่ทว่ามันกลับวิ่งช้าผิดปกติ ก็แสดงว่าผู้ดูแลบล็อกพอร์ตไม่ให้คุณได้ดาวน์โหลดอย่างเต็มที่นั่นเอง นอกจากนี้เกมออนไลน์ส่วนใหญ่ก็ต้องการพอร์ตใช้งานที่นอกเหนือจากพอร์ตทั่วๆ ไป ดังนั้นจึงต้องมีการทำ "Port Forwarding" จากตัวเราเตอร์ เพื่อเปิดพอร์ตให้กับผู้ใช้ที่ต้องการเล่นเกมออนไลน์ด้วย ถ้าคุณพบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ก็พึงเข้าใจว่าต้องให้ผู้ดูแลระบบจัดการให้คุณ สำหรับผู้ใช้ตามบ้านที่เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบอินเทอร์เน็ตจะไม่พบปัญหาแบบนี้







  • พรินเตอร์ พิมพ์ไม่ออก














  • ผมเชื่อว่าการใช้งานพรินเตอร์ ร้อยทั้งร้อยทุกคนต้องเจอกับอาการพิมพ์ไม่ออก กระดาษติด ปิดฝาเครื่องไม่แน่น เดินแตะสายไฟหลุด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พรินเตอร์ไม่สามารถพิมพ์เอกสารออกมาได้อย่างถูกต้อง หรือพิมพ์ไม่ได้เลยในกรณีที่สายไฟหลุด เราไปดูสาเหตุอื่นๆ กันว่ามีอะไรอีกบ้างที่สกัดกั้นการทำงานของพรินเตอร์



    A. ไดรเวอร์มีปัญหา : พรินเตอร์แต่ละยี่ห้อไม่สามารถใช้ไดรเวอร์ร่วมกันได้แน่ และถึงแม้จะเป็นยี่ห้อเดียวกันแต่เสปกรุ่นต่างกันไม่มาก ก็ใช่ว่าจะนำไดรเวอร์มาใช้แทนกันได้ ซึ่งบางยี่ห้อนั้นบอกว่ารุ่นที่ขึ้นต้นด้วยรหัสเท่านี้สามารถใช้ไดรเวอร์ร่วมกันได้ แต่พอใช้ไปใช้มากลับเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง การแก้ปัญหาลงไดรเวอร์ผิดเวอร์ชันนี้ คุณต้อง disable การทำงานของอุปกรณ์ก่อน จากนั้น Remove ไดรเวอร์ออกไป รีบูตเครื่องใหม่อีกครั้ง เมื่อวินโดวส์ตรวจพบอุปกรณ์แล้วเรียกหาไดรเวอร์ให้คุณเลือกไดรเวอร์ที่ถูกต้องให้กับระบบติดตั้ง หากเป็นพรินเตอร์ที่ใช้พอร์ต USB เชื่อมต่อ คุณจำเป็นต้องรันยูทิลิตี้ของไดรเวอร์ก่อน เมื่อมันบอกให้เสียบสายสัญญาณ USB เข้ากับพีซี จึงค่อยเสียบตอนนั้น เพราะหากเสียบก่อนจะไม่สามารถใช้งานพรินเตอร์ได้ ต้องกลับมาติดตั้งไดรเวอร์ใหม่อีกครั้ง



    B. เลือกพอร์ตพรินเตอร์ผิด : การติดตั้งพรินเตอร์โดยทั่วไป หากเป็นการใช้งานกับเครื่องนั้นๆ เพียงอย่างเดียว พอร์ตของพรินเตอร์ก็จะถูกกำหนดมาจากไดรเวอร์ให้เองอัตโนมัติ แต่ถ้าคุณต้องการเซตให้พรินเตอร์ดังกล่าว (ไม่มีระบบพรินเซิร์ฟเวอร์) ทำหน้าที่แชร์ทรัพยากรการพิมพ์ให้กับเครื่องคอมพ์อื่นๆ บนเครือข่ายละก็ พอร์ตที่ใช้งานจะต้องเลือกให้ถูกต้องด้วย เครื่องของคุณจะทำหน้าที่แชร์ทรัพยากรให้กับเครื่องอื่นๆ ดังนั้นเส้นทางจากทุกเครื่องจึงวิ่งมาที่คุณ การติดตั้งไดรเวอร์ไม่จำเป็นต้องยกพรินเตอร์ไปต่อกับคอมพ์ทุกเครื่อง คุณสามารถแชร์พรินเตอร์ผ่านเครือข่ายแล้วให้เครื่องอื่นๆ เข้าไปเปิดพอร์ตใช้งานผ่านเครื่องของคุณ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ให้ทุกๆ เครื่องเปิด My Network Places ขึ้นมา แล้วเข้าไปใน Workgroup ที่เครื่องของคุณปรากฏอยู่ พอเข้าไปแล้วจะเห็นรายชื่อพรินเตอร์ที่คุณแชร์เอาไว้ ให้ดับเบิลคลิ้กแล้วทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่ปรากฏ ซึ่งต้องการไดรเวอร์ของพรินเตอร์มาใช้ด้วย เมื่อทำเสร็จแล้ว เข้าไปดูที่ Printer Properties เลือกดูที่แท็บก็จะพบว่าพอร์ตใช้งานนั้นกลายเป็นพาธที่ไปยังเครื่องของคุณนั่นเอง คราวนี้ถ้าคุณต้องการใช้งานพรินเตอร์ตัวอื่นๆ ด้วยให้พิจารณาพอร์ตให้ดีว่าเป็นของพรินเตอร์ตัวใด



    C. กระดาษติด คิดจนตัวตาย : ปัญหาที่ปราบเซียนมาแล้วก็คือ กระดาษติดนั่นเองครับ ไม่ใช่กระดาษแผ่นใหญ่ๆ ด้วย เพราะเรามองเห็นกันอยู่แล้วเวลาที่มันติด แต่เป็นเศษกระดาษที่ขาดมาจากแผ่นใหญ่อีกทีเข้าไปติดอยู่ในซอกหลืบ ซึ่งยูทิลิตี้ของพรินเตอร์ก็รายงานว่ามีกระดาษติดอยู่ไม่สามารถพิมพ์เอกสารได้ แต่ผู้ใช้อย่างเราๆ ก็คิดว่ากระดาษที่ติดนั้นจะต้องเป็นแผ่นใหญ่อย่าง A4 ที่มองเห็นได้ ไม่คิดว่าแค่เศษกระดาษเล็กๆ จะทำให้ระบบไม่ยอมพิมพ์เอกสารออกมาเลย ผมเคยตกม้าตายกับเรื่องนี้มาแล้ว ซึ่งใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหากระดาษติดอยู่ร่วมชั่วโมง แต่สุดท้ายเจ้าของเครื่องก็เอาไฟฉายมาส่องดูข้างในเครื่อง แล้วก็พบกับเศษกระดาษชิ้นเท่าปลายนิ้วก้อย พอเอามันออกมาปุ๊บ เสียงพรินเตอร์ก็ร้องดี๊ด๊าส่งสัญญาณว่าจะพิมพ์ทันที (ดูมันสิครับ) ถ้าคราวหน้าเจอปัญหา Paper Jam อีกก็อย่าลืมเอาไฟฉายติดตัวไปด้วยนะครับ!


    ที่มา : www.ITHarem.com :smile:



  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น